ภพ 30 คืออะไร ต้องยื่นเมื่อไหร่ ยื่นอย่างไร

ภพ 30 คืออะไร ทำยังไง ยื่นเมื่อไหร่ ยืนที่ไหน ใครต้องทำบ้าง

หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์กันไปแล้ว หากใครจด VAT หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ ก็จำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับ ภ.พ. 30 ด้วย เนื่องจากจะเป็นภาระและหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 ทุกเดือน ถึงแม้ไม่มีรายได้ก็ตาม แต่หากนิติบุคคลไหนไม่ได้จดทะบเบียน VAT ก็ข้ามบทความนี้ไปได้เลย เพราะยังไม่จำเป็นต้องยื่น

ตอบข้อสงสัย ภพ 30 คืออะไร

ภพ 30 คือ เอกสารการสรุปภาษีซื้อ – ภาษีขาย ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อย ซึ่งตัวเจ้าของธุรกิจต้องเป็นผู้ยื่นเอกสารดังกล่าวกับกรมสรรพากรเพื่อแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบถ้วนทุกเดือนภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปกติแล้วต้องทำก่อนถึงวันที่ 15 เดือนถัดไป ซึ่งอย่างที่บอกว่าภาษีแบ่งออกได้ 2 ประเภท ประกอบด้วย

  • ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่ธุรกิจต้องจ่ายให้กับผู้ขายไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า เครื่องจักร วัตถุดิบ อุปกรณ์ งานบริการ หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม
  • ภาษีขาย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ที่ธุรกิจได้ทำการเรียกเก็บจากฝ่ายผู้ซื้อ ซึ่งเงินดังกล่าวจะต้องถูกหักออกแล้วนำส่งให้กับทางกรมสรรพากรต่อไป

นิติบุคคลแบบไหนที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT

นิติบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่จดไม่ได้

หรือหากนิติบุคคลไหนที่รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องการจด VAT ด้วย ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยบางธุรกิจเชื่อกันว่าจะช่วยให้ดูน่าเชื่อถือในสายตาของลูกค้า ซึ่งก็แล้วแต่จะเห็นสมควร

ขั้นตอนการทำเอกสาร ภพ 30

หากธุรกิจของคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยังไงก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการยื่นส่ง ภพ 30 ให้กับกรมสรรพากรอย่างแน่นอน ปกติแล้วเมื่อถึงสิ้นเดือนฝ่ายบัญชีหรือเจ้าของกิจการจะนำเอกสารใบกำกับภาษีทั้งของผู้ขายที่ตนเองซื้อมาและที่บริษัทออกให้กับลูกค้ามาทำการสรุปยอดภาษีซื้อ-ภาษีขาย ตามสูตรง่าย ๆ 

ภาษีขาย – ภาษีซื้อ = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้กรมสรรพากร

  • กรณีที่ ภาษีซื้อ “มากกว่า” ภาษีขาย ไม่ต้องทำการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
  • แต่ถ้า ภาษีขาย “มากกว่า” ภาษีซื้อ ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ตามต้องยื่น ภพ 30 ทุกเดือน ถึงแม้ไม่มีรายได้ หรือจะขาดทุนก็ตาม หากไม่ยื่นโดนปรับแน่นอน

ขั้นตอนการส่งเอกสาร ภพ 30

เมื่อทำการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเสร็จเป็นที่เรียบร้อย บริษัทต้องนำส่งหนังสือ ภพ. 30 ไปยังกรมสรรพากร ยกเว้นกรณีวันที่ 15 เป็นวันหยุดราชการก็สามารถยื่นแบบได้ช้าสุดถัดไปอีก 1 วันหลังวันหยุด แต่ถ้าไม่ยื่นตามกำหนดธุรกิจต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนเดิม

ในการยื่นส่งแบบ ภพ 30 ให้กับกรมสรรพากรจะเลือกยื่นผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ ซึ่งสะดวกมาก ๆ ทำตามเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. เข้าไปหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

    เข้าไปหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/

  2. เข้าสู่ระบบ

    ล็อกอินบัญชีของตนเองหากยังไม่มีทำการสมัครใหม่ โดยขั้นตอนนี้อาจต้องยื่นเรื่องขอเปิดบัญชีออนไลน์กับทางกรมสรรพากรเสียก่อน โดยสามารถทำการสมัครได้ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/register

  3. E-Filing

    คลิก E-Filling เลือก “แบบยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต”

  4. ยื่นแบบออนไลน์

    เลือก “ยื่นแบบออนไลน์” บนแถบด้านบน แล้วเลือก ภ.พ. 30 

  5. กรอกข้อมูล ภ.พ. 30

    กรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน แล้วเลือกคำนวณภาษี เท่านี้ก็พร้อมจ่ายได้เลย

เมื่อเข้าใจกันไปแล้วว่า ภพ 30 คืออะไร เจ้าของธุรกิจทั้งหลายต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ด้วย เพราะจะได้ทำธุรกิจอย่างสบายใจ วางแผนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

แนะนำให้วางแผนเริ่มทำก่อนที่จะถึง Deadline เพราะหากยื่นและชำระเงินไม่ทันจะต้องเสียเบี้ยปรับ ซึ่งการคำนวณเบี้ยปรับของ ภ.พ. 30 ค่อนข้างโหดอยู่ ไว้มีโอกาสในบทความต่อไป AccSence จะมาเล่าให้ฟัง

หากใครไม่มีเวลาดำเนินการ ต้องการให้ทาง AccSence เข้ามาช่วยเหลือด้านเอกสาร ภ.พ. 30 ยืนภาษี รวมถึงเอกสารภาษีอื่นๆ ในแต่ละเดือน ก็สามารถติดต่อเราเพื่อขอคำแนะนำ รวมถึงสอบถามรายละเอียดบริการ หรือทำความรู้จักข้อมูลเกี่ยวกับเราเพิ่มขึ้น